น้ำท่วมเรื้อรังแก้ได้ด้วย Opportunistic Adaptation

Categories: News.

น้ำท่วมเรื้อรังแก้ได้ด้วย Opportunistic Adaptation

ปัญหาอุทกภัย เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติหนึ่งที่ประเทศไทยจำต้องรับมืออยู่เสมอ และถูกมองว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่มักสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ และด้วยรูปแบบการตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ที่หลายพื้นที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ (เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ตอนกลางของประเทศไทย หรือที่ราบลุ่มแม่น้ำบริเวณชายฝั่งทะเลในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย) พื้นที่เหล่านี้ต่างได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมอยู่อย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับในปัจจุบันเกิดวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ท้าทายต่อพื้นที่เมืองและปริมณฑล วิถีชีวิตของประชากรหลายสิบล้านคนได้รับความเดือดร้อนทั้งในมิติทางสังคมและในเชิงเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความพยายามในการรับมือต่อปัญหาทั้งในระดับของภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อรับมือและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขึ้นมาโดยตลอด ในวันนี้ทางเพจ NPPN จะมานำเสนอทฤษฎี Opportunistic Adaptation ซึ่งเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่ใช้สำหรับการรับมือต่อปัญหาการจัดการน้ำในเชิงบูรณาการอย่างยั่งยืน

อะไรคือ Opportunistic Adaptation ?

เมื่อเรามาพูดถึงเมือง เราจะพบว่าเมืองนั้นประกอบสร้างขึ้นมาจากหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องยึดโยงซึ่งกันและกัน องค์ประกอบของเมืองที่ไม่ว่าจะเป็นตึกแถว อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน บ้านจัดสรร ถนน สวนสาธารณะ ระบบสาธารณูปโภค ฯลฯ แต่ละองค์ประกอบของเมืองนั้นล้วนแล้วแต่มีอายุขัย หรือมีเงื่อนเวลาเฉพาะตัวของตนเอง (ตามมาตรฐานการประเมินอายุเฉลี่ยของสิ่งปลูกสร้าง) ไม่ต่างอะไรกับสิ่งมีชีวิตที่มีลมหายใจ ดังนั้นเมื่อเรารู้ว่าโดยพื้นฐานสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นองค์ประกอบต่างๆของเมืองที่ดำรงอยู่ยึดโยงกันนั้นมีช่วงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ต่อเติม หรือถูกสร้างใหม่ขึ้นทดแทนแล้ว ก็นำมาซึ่งทฤษฎีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ในการที่จะบริหารจัดการกับสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ชุมชน ตามขนาดที่สัมพันธ์กับความต้องการวางแผนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงรับมือกับปัญหาในอนาคต เช่น ในระดับของหมู่บ้าน ระดับของชุมชน ระดับของเขต หรือระดับเทศบาล ด้วยโมเดลลักษณะนี้หากเรามีการจัดทำฐานข้อมูลพื้นฐานที่เป็นระบบ และมีการสื่อสารระหว่างกันระหว่างสมาชิกในพื้นที่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ จะส่งผลให้เกิดศักยภาพในการสร้างการรับมือในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นผลดีต่อชุมชน ไปจนถึงในระดับเมือง

Opportunistic Adaptation หัวใจสำคัญคือความยืดหยุ่นในการปรับตัว

หัวใจสำคัญของทฤษฎี Opportunistic Adaptation คือการให้ความสำคัญต่อความยืดหยุ่นในการสร้างข้อตกลง และการตัดสินใจร่วมกันของชุมชน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและเหมาะสมต่อการปรับเปลี่ยน ที่จำเป็นต้องตอบสนองต่อความท้าทายที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวพัฒนาขึ้นจากการให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับล่างขึ้นบน (bottom-up approach) เพราะการแก้ปัญหาของเมืองในอดีตมักเกิดขึ้นมาจากคนระดับบน (top-down approach) เช่น ภาครัฐผู้ออกนโยบายที่จัดสรรงบประมาณลงไปในพื้นที่ และมักทำให้เกิดปัญหาเนื่องจากขาดความยืดหยุ่นภายหลังจากการดำเนินนโยบาย ทั้งอาจเกิดจากการขาดแคลนข้อมูลในระดับพื้นที่ การขาดความเข้าใจต่อสถานภาพความรู้ และเมื่อตัดสินใจก่อสร้างโครงการใดๆลงไปก็อาจส่งผลต่อระบบนิเวศวิทยา และสภาพแวดล้อมของพื้นที่ตั้งในระยะยาวที่ไม่ยืดหยุ่นต่อการปรับตัวในอนาคต ดังนั้นเมื่อแนวคิด Opportunistic Adaptation วางอยู่บนความแม่นยำของการมีฐานข้อมูลองค์ประกอบของเมืองและเมื่อมีฐานข้อมูลของอายุการใช้งานอาคารที่ครอบคลุมแล้วจึงสามารถนำมาซึ่งการสร้างข้อตกลงของการปรับปรุงองค์ประกอบเมืองในเชิงนโยบาย ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่น

องค์ประกอบในการพิจารณา

องค์ประกอบสำคัญในการใช้พิจารณา เพื่อสร้างโมเดลในการวางแผนตามทฤษฎี Opportunistic Adaptation จำเป็นต้องมี การวิเคราะห์ช่วงเวลา (Timing), การสำรวจอัตราการปรับตัวขององค์ประกอบเมือง (Local adaptation measures), เกณฑ์การประเมินพัฒนาการ (Evaluation Criteria), การวางแผนด้วยสถานการณ์ (Scenarios)